ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี
การนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่อง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ระบาดในเม็กซิโก วันที่ 28 เมษายน 2552
กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 27 เมษายน 2552
1. สถานการณ์โรค
องค์การอนามัยโลกได้รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนเมษายน ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย.52 พบผู้ป่วยมากกว่า 854 ราย เสียชีวิต 59 ราย ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่า มีสาเหตุจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน ที่มีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมูผสมอยู่ด้วย จำนวน 18 ราย ต่อมามีการพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 20 ราย ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเดียวกัน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย 7 ราย เท็กซัส 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 มลรัฐนี้มีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก มลรัฐนิวยอร์ค 8 ราย แคนซัส 2 ราย โอไฮโอ 1 ราย และ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
เนื่องจากเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ และข้อมูลการสอบสวนโรค บ่งชี้ว่า การระบาดเป็นการติดต่อจากคนสู่คน และมีผู้เสียชีวิต ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดใหญ่ขยายตัวไปประเทศอื่น องค์การอนามัยโลกกำลังส่งผู้เชี่ยวชาญประสานงานป้องกันควบคุมโรคร่วมกับรัฐบาลเม็กซิโก รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC ). เมื่อวันที่ 25 เม.ย.52 และแจ้งเตือนให้ทุกประเทศเพิ่มระดับความเข้มข้นของการเฝ้าระวังการระบาดของกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบชนิดรุนแรง แต่ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หลายประเทศได้ออกมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกาแล้ว เช่น ประเทศจีน รัสเซีย ไต้หวัน โบลิเวีย มีมาตรการกักกันผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ฮ่องกงและเกาหลีใต้ออกคำเตือนเรื่องการเดินทางไปยังเมืองเม็กซิโกซิตี้และอีก 3 จังหวัด โปแลนด์และเวเนซุเอลาแนะนำให้ประชาชนของตนเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่บางประเทศได้เพิ่มมาตรการคัดกรองสุกรและเข้มงวดหรือห้ามการนำเข้าเนื้อสุกร
สำหรับประเทศไทย จากการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 3,159 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่แตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551 และจากการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ ในประเทศไทยยังไม่เคยพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ดังกล่าว
ในการรายงานโรคนี้ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Swine Flu” หรือไข้หวัดใหญ่สุกร โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่สุกรเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในสุกร มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1, H3N2 และแต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในสุกร บางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากสุกรและป่วยซึ่งไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดโดย คนหายใจเอาละอองฝอยเมื่อสุกรไอ หรือจาม เข้าไป หรือการสัมผัสกับสุกร หรือสิ่งแวดล้อมที่สุกรอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรม พบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน ซึ่งยังไม่เคยพบในสุกรมาก่อน และการระบาดดังกล่าว ไม่มีรายงานโรคนี้ระบาดในสุกรทั้งในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลการสอบสวนโรค ไม่พบผู้ใดติดโรคจากสุกร หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็วจากคนสู่คน เชื้อนี้มีความไวต่อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และคาดว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของคน ซึ่งมีสายพันธุ์ H1N1 ประกอบอยู่ด้วย ไม่สามารถใช้ป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ได้
2. มาตรการและการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข
ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2547 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของไทย ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกรวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มาเป็นลำดับ ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเม็กซิโก จึงสามารถปรับใช้มาตรการดำเนินงานที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ได้ สำหรับการระบาดในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินมาตรการแล้ว ดังนี้
2.1 เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรค
เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังการรายงานผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม รวมทั้งขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ให้กับหน่วยงานสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ กับ ทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,030 ทีม และ ครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ เพื่อดำเนินการค้นหาผู้ป่วย ตรวจจับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และ ควบคุมได้ทันท่วงที
2.2 เตรียมพร้อมด้านการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
ขณะนี้ทั่วประเทศ มีห้องตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสามารถรายงานผลการตรวจได้ภายใน 4 ชั่วโมง มีจำนวน 14 แห่ง มีรถเคลื่อนที่ที่สามารถตรวจยืนยันเชื้อของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 คัน เพราะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศิริราชพยาบาล รวมทั้งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข
2.3 เตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย
เพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและให้การรักษาได้ทันท่วงที กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาล โดยจัดทำแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล ส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และขณะนี้ได้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์โรคเป็นระยะๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีห้องแยกเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกแห่ง ไว้พร้อมแล้ว
2.4 สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ
กระทรวงวาสาธารณสุข ได้สำรองยาต้านไวรัสและวัสดุ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรสาธารณสุขไว้ เพื่อรักษาและป้องกันโรค โดยมีความมั่นใจว่าเพียงพอต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกของการระบาด ซึ่งหากการระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้นภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุด เพื่อให้ได้เป้าหมายเพียงพอต่อความต้องการ
2.5 ให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
เพื่อให้ข้อมูลประชาชน ให้รู้ถึงสถานการณ์ที่ถูกต้องและรู้วิธีในการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน โดยออกประกาศคำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพผ่านช่องทางสื่อต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (www.moph.go.th) และ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ (http:// beid.ddc.moph.go.th) และ ศูนย์บริการข่าวสารเบอร์ 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง โดย กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ครม. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อให้มีการประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วน
2.6 ตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
กรมควบคุมโรคได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่สนามบินนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และ สนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการไข้ การเตรียมพร้อมที่จะใช้งานเมื่อมีความจำเป็นโดยจะดูแลผู้เดินทางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมแจกคำเตือนสุขภาพสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ถึงความพร้อมมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การกำกับดูแลการดำเนินงาน
การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติข้างต้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการอำนวยการ ป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก และการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้เริ่มมีการแต่งตั้ง โดยคณะรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 และมีการทบทวนแต่งตั้งใหม่ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้ง ในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว และนำเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาลงนามแต่งตั้งโดย พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี หากได้รับการลงนามแต่งตั้งแล้ว คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นกลไกหลักในการประสานความร่วมมือระดับชาติ เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ได้ต่อไป
4. การประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นแกนหลัก ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและแผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2552 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอต่อ ครม. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 และ ขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี
แหล่งที่มา http://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=419844&Itemid=199
วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น